โครงการ "อุโมงค์ทางคนเดิน และทางคนเดินลอดเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ย่านวงเวียนใหญ่ และถนนทุกสายที่เชื่อมต่อกับพระบรมราชานุสาวรีย์" ที่คาดว่าคงจะลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทนับเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ที่กรุงเทพมหานครมีความพยายามดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากสภาพพื้นที่ดังกล่าวดังเป็นที่ทราบกันดีว่า "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน" มีการปรับปรุงภูมิทัศนียภาพ จัดภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นลักษณะของไม้พุ่ม ทำให้เกิดความสวยงาม
[caption id="attachment_50404" align="aligncenter" width="500"]
อุโมงค์รถยนต์ลอดใต้ถนนอรุณอมรินทร์[/caption]
แต่หากมองสภาพถนนโดยรอบที่เชื่อมโยงมายังพระบรมราชานุสาวรีย์กลับพบว่ามีความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากทางเท้ามีการค้าขาย มีป้ายสัญญาณ ป้ายบอกทาง ป้ายโฆษณาที่ดูไม่สง่างาม และระบบสาธารณูปโภคต่างๆกีดขวางทางเดิน มีสะพานลอยคนข้ามบดบังทัศนียภาพของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แม้ว่าช่วงก่อนนี้จะมีการทดลองใช้ทางม้าลายให้คนเดินข้ามถนน แต่ก็ปรากฏว่าไม่ปลอดภัยในการใช้งาน เนื่องจากถนนบริเวณโดยรอบมีปริมาณการจราจรหนาแน่น อีกทั้งพื้นที่วงเวียนใหญ่ยังเป็นชุมทางการคมนาคมสำคัญของฝั่งธนบุรีจึงส่งผลให้การเดินทางมีสภาพการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน
ม.เกษตรฯเร่งออกแบบรายละเอียด
ปัจจุบันพื้นที่ใกล้เคียงวงเวียนใหญ่แม้ว่าจะมีสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสให้บริการ ตลอดจนโครงการรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยที่สถานีวงเวียนใหญ่แต่ก็ไม่ได้ทำให้สภาพการจราจรลดความหนาแน่นแต่อย่างใด ดังนั้นกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา จึงมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยเล็งเห็นว่าปัจจุบันสภาพโดยทั่วไปบริเวณถนนประชาธิปกและถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมีอาคารพาณิชย์ และอาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่หนาแน่น รวมถึงห้างสรรพสินค้า และสถานศึกษาหลายแห่ง ส่งผลให้สภาพการจราจรช่วงเร่งด่วนค่อนข้างติดขัดหนาแน่นอย่างมาก
ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์กำแพงแสน ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างทางคนเดินลอดใต้ดินรูปแบบอุโมงค์ทางเดินใต้ดิน ทดแทนกรณีการรื้อสะพานลอยคนเดินข้ามที่บดบังทัศนียภาพพระราชานุสาวรีย์ฯออกไป ประการสำคัญในเร็วๆนี้ยังจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ผ่านในพื้นที่ดังกล่าว จึงสามารถสร้างอุโมงค์ทางคนเดินลอดให้เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่จะก่อสร้างตามแนวถนนประชาธิปกได้อย่างลงตัวอีกด้วย
นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครยังมีแนวคิดก่อสร้างอุโมงค์รถยนต์ลอดใต้ถนนประชาธิปกเชื่อมระหว่างถนนอรุณอมรินทร์กับถนนสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณทางแยกศึกษานารี (แยกวงเวียนเล็ก) และพื้นที่ใกล้เคียง
[caption id="attachment_50403" align="aligncenter" width="700"]
รูปแบบโครงการภาพรวม[/caption]
กำหนด 6 แนวทางดำเนินงาน
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่วงเวียนใหญ่และโดยรอบอนุสาวรีย์ฯครั้งนี้กำหนดแนวทางไว้ 6 แนวทางดังนี้คือ 1.ก่อสร้างทางคนเดินลอดบริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารี ลอดใต้ถนนประชาธิปก ลอดผ่านจุดตัดทางแยกอรุณอมรินทร์และสมเด็จเจ้าพระยากับถนนประชาธิปก ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 160 เมตร 2.ก่อสร้างทางคนเดินลอดบริเวณสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้ถนนประชาธิปก ลอดผ่านบริเวณสี่แยกบ้านแขก เพื่อเชื่อมต่อระหว่างถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินกับถนนอิสรภาพ ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 72.5 เมตร 3.ทางคนเดินใต้ถนนประชาธิปก ช่วงจากโรงเรียนศึกษานารีถึงวงเวียนใหญ่ ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 680 เมตร 4.ทางคนเดินใต้บรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดกว้าง 50 เมตร ยาว 420 เมตร 5.ทางคนเดินใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ช่วงจากวงเวียนใหญ่ถึงแยกตากสิน ที่สามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีวงเวียนใหญ่ (S8) ได้อีกด้วย ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 660 เมตร และ 6.ทางคนเดินใต้ถนนอิสรภาพ ช่วงจากแยกบ้านแขกถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 460 เมตร
แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นศึกษาโครงการดังกล่าวแต่เนื่องจากถนนประชาธิปกที่มุ่งสู่วงเวียนใหญ่มีความสำคัญ ใช้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางเสด็จเป็นประจำทุกปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยเร่งด่วน อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะนำระบบสายไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสารที่ดึงสายระโยงระยางบนท้องถนนเอาไว้ไว้ใต้ดินทั้งหมดอีกด้วย เช่นเดียวกับร้านค้าบนทางเดินเท้าก็จะมีการจัดระเบียบให้ได้พื้นที่ค้าขายใต้ดินอย่างมีระเบียบอีกด้วย
ท้ายสุดมีลุ้นบิ๊กกทม.ตัดสินใจ
ดังนั้นในอีกไม่นานนี้ก็คงจะได้เห็นพื้นที่ถนนประชาธิปก วงเวียนใหญ่และพื้นที่โดยรอบคงจะมีสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในต่างประเทศ แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องวางแผนดำเนินงานอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่หลายฝ่ายเป็นห่วง เช่นเดียวกับเรื่องงบประมาณที่กรุงเทพมหานครคาดว่าจะใช้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทไปดำเนินการประการสำคัญโครงการนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)อยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ใน 1-2 ปีนี้ดังนั้นหากกรุงเทพมหานครยังล่าช้าก็คงจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินการไม่มากก็น้อย จึงมีลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้วกรุงเทพมหานครจะตัดสินใจอย่างไร
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559